วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นโยบายประชานิยมกับการเมืองเกาหลีใต้








ารเมืองเกาหลีใต้กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้งในปี 2555 ซึ่งจะเป็นศึกครั้งใหญ่สำหรับพรรคการเมืองเกาหลีใต้ เนื่องจากในปีหน้าจะมีทั้งการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ในเดือนเมษายนและการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม
                บรรดานักการเมืองและรัฐมนตรีที่ต้องการลงรับการเลือกตั้งต่างเริ่มเตรียมความพร้อมลงพื้นที่สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้ประกาศปรับคณะ รัฐมนตรีอีกครั้ง จำนวน 5 ตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติเกาหลีใต้เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง
สำหรับพรรคการเมืองต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่คือ พรรค Grand National Party หรือพรรค GNP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน และพรรค Democratic Party หรือพรรค DP นโยบายการเพิ่มสวัสดิการภาครัฐหรือนโยบายประชานิยม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พรรคการเมืองเกาหลีใต้เลือกใช้เพื่อเรียกคะแนนสำหรับการเลือกตั้งในปีหน้าด้วย
พรรค DP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ชูนโยบายประชานิยมมาตลอด โดยออกนโยบายของพรรคที่เรียกว่า สวัสดิการ 3+1 คือ สนับสนุนค่าอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กนักเรียน ค่าดูแลเลี้ยงดูเด็กฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี และบวกด้วยการลดค่าเล่าเรียนครึ่งราคา รวมทั้งปัจจุบัน พรรค DP กำลังพิจารณาออกนโยบายใหม่ที่เรียกว่า สวัสดิการ 3+3 โดยเพิ่มสวัสดิการในด้านการจัดหางานและการจัดสรรที่พักอาศัยเพิ่มเติมจากนโยบายเดิมก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนชาวเกาหลีใต้
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านชูนโยบายเพิ่มสวัสดิการ พรรครัฐบาลอย่าง GNP ได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยการลดภาษีนิติบุคคล สนับสนุนบริษัทเอกชนและส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งดำเนินนโยบายการคลังที่สมดุลและสมเหตุสมผล ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยเพื่อดำเนินนโยบายประชานิยม และก่อหนี้สินสาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ลูกหลานในอนาคต
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพรรครัฐบาลเกาหลีใต้กำลังปรับเปลี่ยนท่าทีและหันเหนโยบายไปสู่นโยบายประชานิยมมากขึ้น สืบเนื่องจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมในเดือนพฤษภาคม 2554 ในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคตนให้แก่พรรค DP รวมไปถึงการล้มเหลวของนายโอ เซ-ฮูน (Oh Se-hoon) อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซลและสมาชิกพรรค GNP ในการจัดทำประชามติเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ เพื่อคัดค้านโครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วกรุงโซล โดยการจัดทำประชามติดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากชาวกรุงโซลที่มีสิทธิออกเสียงมาลงคะแนนเสียงน้อยกว่าหนึ่งในสามของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
สำหรับโครงการอาหารกลางวันฟรีดังกล่าว เดิมสภากรุงโซลซึ่งพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากอยู่ เห็นชอบให้จัดทำโครงการดังกล่าวในช่วงต้นปี 2554 อย่างไรก็ดี นายโอฯ และพรรครัฐบาลไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมากโดยไม่จำเป็นและควรนำงบประมาณดังกล่าวไปพัฒนาประเทศด้านอื่น จึงเสนอให้ปรับโครงการเป็นให้บริการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยเท่านั้น
ความพ่ายแพ้ในทั้งสองโอกาสดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะในนโยบายเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนร่ำรวยและบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า รวมทั้งเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ก็ตาม
                รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเริ่มเพิ่มนโยบายในส่วนการให้สวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้น โดยได้ยกเลิกการลดภาษีเพิ่มเติมสำหรับผู้มีรายได้สูงและธุรกิจขนาดใหญ่ และประกาศจัดสรรงบประมาณมูลค่าประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสวัสดิการให้แก่แรงงานที่มีรายได้น้อยและแรงงานชั่วคราว รวมทั้งเพิ่มงบประมาณพิเศษในปีหน้ามูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่ออุดหนุนค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ พรรค GNP ยังประกาศจะปรับลดค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยลงร้อยละ 30 ภายในปี 2557
                 อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพยายามปรับเพิ่มนโยบายสวัสดิการสังคม แต่ก็ยังคงต้องรักษาสมดุลกับการรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฐานเสียงเดิมของพรรค GNP รวมทั้งต้องรักษาวินัยทางการคลังเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกลุกลามมากขึ้น
                นอกเหนือจากนโยบายประชานิยมแล้ว นโยบายต่อเกาหลีเหนือและความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปีหน้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ได้เช่นกัน ซึ่งทั้งสองพรรคมีนโยบายที่แตกต่างกันในการดำเนินความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ในขณะที่พรรครัฐบาลเห็นควรนโยบายแข็งกร้าวและไม่อ่อนข้อให้กับเกาหลีเหนือ พรรคฝ่ายค้านกลับเห็นว่าเกาหลีใต้ควรผูกสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือก่อนเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ
                ในช่วงอีกประมาณ 6 เดือนก่อนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ จึงเป็นช่วงสำคัญที่ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่จะช่วงชิงคะแนนเสียงจากประชาชน โดยผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ในเดือนเมษายน 2555 จะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม 2555

บทวิเคราะห์ทางด้านนิเวศวิทยามนุษย์
ประธานบริษัทแดวูที่ถูกตัดสินจำคุก
                    ประชากรเกาหลีใต้นั้น เคยประสบกับปัญหาทางการเมืองมาตั้งแต่ในยุคอดีต นับตั้งแต่สงครามเกาหลี ผู้นำเผด็จการ และผู้นำที่ฉ้อฉล สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อให้ประเทศของตนได้รับการพัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นผลดีต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ  โดยที่หากพิจารณาจากองค์ประกอบของประชากรในด้านการศึกษาแล้วประชากรเกาหลีใต้ ถือว่ามีระดับการเข้าถึงการศึกษาที่สูงประเทศหนึ่งในโลก อันเป็นผลจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและความตื่นตัวของประชากรในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งนำไปสู่การเข้าใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชน ในการร่วมกำหนดแนวทางในการปกครอง บริหาร และพัฒนาประเทศ โดยพลังของประชาชนทั้งการควบคุม ตรวจสอบ คัดค้าน แก้ไข เช่น กรณีการรับสินบนจากบริษัทแดวูของอดีตประธานาธิบดี  และการฆ่าตัวตายของอดีตประธานาธิบดีโรห์ มูเฮือน ได้สะท้อนถึงสำนึกสาธารณะของประชาชนที่ตระหนักถึง การควบคุมให้อิทธิทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เอื้ออำนวยต่อการสร้างสังคมที่เสมอภาคและลดช่องว่างระหว่างกันมากกว่าที่จะปล่อยให้นักการเมืองดำเนินนโยบายแย่งชิงมวลชนกันโดยไม่สนใจต่อแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อรักษาฐานอำนาจของตนเอง รวมถึงการควบคุมอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมให้เป็นปัจจัยเกื้อกูลกับปัจจัยในตั้งถิ่นฐานอื่นๆเพื่อการควบคุมการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมกับประชากรที่อาศัยอยู่และลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่างๆ อันจะเห็นได้จาก แนวคิดของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ที่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์คนรวยและกลุ่มทุนผลประโยชน์ หากแต่จะตัดสินใจเลือกในนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในสังคมและไม่ก่อภาระหนี้ผูกพันให้กับลูกหลานมาก ดังเช่นกรณีการลงประชามติเรื่องการจัดทำโครงการอาหารกลางวันฟรีของสภากรุงโซล เป็นต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบความคิดในการมีส่วนร่วมของประชากรเกาหลีใต้นั้น นอกจากบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้ผลิตนโยบายแล้ว กระบวนการก่อเกิดนโยบาย กระบวนเสนอนโยบาย การลงประชามติ จะถูกประชาชนในฐานะผู้บริโภคตรวจสอบทุกขั้นตอนและเป็นไปตามลำดับกระบวนการ  ซึ่งก็จะพิจารณาในเรื่องของปัจจัยที่กระทบต่อนโยบาย หากมีเพียงแค่ปัจจัยภายในท้องถิ่นก็จะมีส่วนร่วมกันภายในเท่านั้น แต่หากกระทบถึงคนส่วนใหญ่ เช่น กรณีการนำเข้าเนื้อวัวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าจากญี่ปุ่นนั้น นโยบายเหล่านี้จะถูกตรวจสอบในวงกว้างและมีการเข้าร่วมของหลายภาคส่วนมากขึ้นอีก ส่วนนี้ถือเป็นการกำหนดขอบเขตและบทบาทของแต่ละภาคส่วนในสังคม เกิดเป็นระบบในการควบคุมให้การเมืองของเกาหลีใต้ มีการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจในอนาคต และไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ใดๆของประชาชน เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกกลั่นกรองและตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างละเอียดรอบคอบ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงถือเป็นตัวแบบหนึ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาการเมืองของไทยให้ก้าวพ้นแนวทาง ประชานิยมแบบเสพติด เสียที

เอกสารอ้างอิง
www.eastasiawatch.in.th%2Fdownloads%2Ffiles%2Fpopulist%2520policy%2520of%2520south%2520korea.doc&ei=TQvwTpLlEMjqrAe0zLj6Dw&usg=AFQjCNHGk2VjAcE9kGyWekk9W9z4lAKxdA&sig2=4Yso0qAjvfseVURYiGa7Wg&cad=rja

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น