ในจุลสารฉบับสุดท้ายมีบทความพิเศษเรื่อง "ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย" ที่เขียนโดย "วินัย ผลเจริญ" นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเสนอ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลรายงานชี้ว่า นโยบายประชานิยมมีวิวัฒนาการ จากการเคลื่อนไหวของขบวน การประชาชนถึงการที่รัฐบาลกำหนดนโยบายแบบเอาใจประชาชนเพื่อผลประโยชน์ในการได้รับการเลือกตั้ง และเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ดำเนินนโยบายนั้นต่อไปเพื่อรักษาฐานอำนาจไว้ โดยสามารถทำให้ทั้งกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลและประชาชนทั่วไปพึงพอใจ คือประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนแหล่งสินเชื่อ แต่การเข้าถึงแหล่งทุนนั้นเป็นการเข้าไปแบบเสียเปรียบ เพราะโดยทั่วไปทุนหรือธุรกิจย่อมมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดกำไรได้มากกว่าประชาชน ประชาชนจึงตกเป็นเครื่องมือของทุนนิยมและบริโภคนิยม กลายเป็น "ทุนติดลบ" มีหนี้สินมากมาย ซึ่งทำให้ต้องขึ้นต่อการอุปถัมภ์ของรัฐบาลต่อไป
"วินัย ผลเจริญ" นำเสนอผลกระทบอย่างตรงประเด็นว่า การที่ระบบการเมืองแบบผู้แทนถูกสถาปนาขึ้นมาในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยากจนและด้อยโอกาสนั้น แน่นอนที่สุดอันดับแรกย่อมหมายถึงการแข่งขันทางการเมืองที่กระจุกตัวแคบอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากพอที่จะขึ้นสู่เวทีอำนาจได้ ส่วนประชาชนชั้นล่างเป็นได้อย่างมากที่สุดคือฐานความชอบธรรม (legitimacy) ของกระบวนการเลือกตั้ง ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้างก็อาจเอาตัวเองไปผูกโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ ซึ่งมิได้มีที่ว่างสำหรับทุกคน และยิ่งไม่ได้สะท้อนภาพระบอบการเมืองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าโครงการประชานิยมต่างๆ นั้นเอื้อต่อการเติบโตของวัฒนธรรมบริโภคนิยมและทำให้ประชาชนติดอยู่ในวังวนแห่งหนี้สิน เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจึงไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ง่าย โดยเฉพาะการกระจายรายได้มิได้ดีขึ้นเลย ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมายังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก และเกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย กล่าวคือ "กลุ่มคนรวยสุด 20% สุดท้ายมีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 60% ของประเทศมีส่วนแบ่งรายได้เพียง 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น" "และถ้าแบ่งกลุ่มประชากรให้เล็กลงเหลือ 10% แรกที่รวยกับ 10% หลังที่ยากไร้ ก็จะพบว่าพวกเขามีรายได้ต่างกันถึง 27 เท่า" และหากพิจารณาเป็นรายคน คนที่รวยที่สุดกับคนที่จนที่สุดมีรายได้ห่างกันหลายล้านเท่า ผลจากนโยบายประชานิยมทำให้กลุ่มธุรกิจมีการสะสมทุนได้มากยิ่งขึ้น กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองอย่างใกล้ชิด การที่ประชาชนนิยมบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ
ด้วยอิทธิพลการโหมโฆษณาของสื่อต่างๆ จะทำให้กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจด้านนี้ได้กำไรอย่างมากในระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ทราบกันว่ากลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคมนั้นก็คือ กลุ่มที่กำลังคุมอำนาจทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน เงินของประเทศที่ลงไปอยู่ในมือของประชาชนจากนโยบายประชานิยมต่างๆ นั้น ในที่สุดจะมิได้ทำให้ประเทศชาติมั่งคั่งขึ้นมากไปกว่าความมั่งคั่งของกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลเลย นโยบายประชานิยมของรัฐบาลจึงเป็นแบบที่ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ เรียกว่า "pluto- populism" ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นนโยบาย "ช่วยคนจนเพื่ออุ้มคนรวย" ความจริงนโยบายที่ช่วยคนรวยโดยตรงก็มี เช่น กรณีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาจัดการหนี้เสียของสถาบันการเงิน บรรษัท ก็ทำงานเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินในเครือชินวัตร เช่น ธนาคารทหารไทยอย่างมาก ข้อควรคำนึงก็คือ "โครงการที่รัฐบาลไทยรักไทยทำแบบเงียบๆ ใช้เงินอุดหนุนและเอื้อประโยชน์นายธนาคาร นายทุนใหญ่นั้นมีมากกว่าที่เอามาช่วยคนจนหลายสิบเท่า แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เท่ากับโครงการช่วยคนจน" นโยบายดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ชัด เพราะการดำเนินนโยบายหลายอย่าง ประชาชนอาจจะมองได้ว่า นั่นเป็นอีกทางหนึ่งที่ต้องดำเนินไปพร้อมกันเป็นแบบ "รางคู่" หรือ "dual track" ที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์อยู่นั่นเอง
หรืออีกนัยหนึ่งคือเกิดการบูรณาการของส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน คือ 1) การบูรณาการภาคประชาชน ด้วยนโยบายประชานิยมและโครงการเอื้ออาทรต่างๆ 2) การบูรณาการภาคการเมือง ที่สามารถรวบรวมกลุ่มทุน และอิทธิพลท้องถิ่นเข้าอยู่ในพรรคได้มาก 3) การบูรณาการภาคการเมืองเข้ากับภาคราชการ 4) การบูรณาการกับกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ และ 5) การบูรณาการทุนหรือการเปลี่ยนทั้งประเทศให้เป็นทุน โดยการแปลงชนบท และคนจนให้เป็นทุนบริโภคแปรทรัพยากร หรือทรัพย์สินรัฐให้เป็นทุนและทำให้คุณธรรมศีลธรรมเป็นทุน
อาจสรุปผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ทั้งที่เป็นผลกระทบทางเศรษฐ กิจ ทางสังคม/วัฒนธรรม และทางการเมืองว่า จะทำให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้สิน นั่นคือไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ การบริโภคมากมีส่วนทำให้กลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาล มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมั่นคง และประชาชนก็ต้องขึ้นต่อรัฐบาลในรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับทุนนิยม ประชาชนจึงไม่มีอำนาจที่แท้จริง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
นโยบายประชานิยมกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกตั้ง ที่ถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ให้ผู้คนหันมาสนใจเทคะแนนให้พรรคการเมือง และช่วยให้บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายนำไปโฆษณาเกทับ ปลั๊ฟฟ์แหลกกันในพื้นที่ ในระหว่างตระเวนหาเสียง สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้พรรคการเมืองไทย ไม่มีความแตกต่างเชิงนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริง ทุกพรรคการเมืองต่างกลายสภาพเป็นปีศาจประชานิยมไปโดยปริยาย!
ในสนามเลือกตั้งพรรคการเมืองสนใจชัยชนะมากกว่าสิ่งอื่นใด ทุกคน ทุกพรรคต่างหาทางทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะชนะเลือกตั้ง การทำให้ตัวเองและพรรคได้รับชัยชนะจึงเป็นภารกิจหลักของพรรคการ เมืองและนักเลือกตั้งทั้งหลาย ไม่มีการคำนึงถึงความถูกต้อง จริยธรรมทางการเมือง ความก้าวหน้าของผู้คน สังคม และประเทศชาติ ในฤดูกาลแห่งการหาเสียงเลือกตั้ง เราจึงเห็นป้ายและการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง มีสภาพเดียวกับบริษัท ห้างร้าน หรือภัตตาคารทั้งหลาย บางพรรคแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นพรรคการเมือง นึกว่าเป็นร้านขายรถยนต์ เช่น ป้ายโฆษณาที่เสนอนโยบาย "รถยนต์คันแรก ลด 100,000 บาท" ข้อเสนอนโยบายแบบนี้นับว่า เลอะเทอะ ได้ที่สุดๆ แล้ว การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองไทยได้มีผลให้ องค์กรที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่าง ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี และธนาคารโลก ต่างออกมาวิเคราะห์วิจารณ์เตือนการเมืองไทยว่า ให้คำนึงถึงความเข้มแข็งและความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ในการที่จะสร้างความมั่นใจให้สังคมไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่น คง มีเสถียรภาพยั่งยืน ผู้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่คอยแต่จะพึ่งรัฐอย่างเดียว ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ประเทศชาติตกที่นั่งลำบาก อย่างไรก็ดี อีกไม่กี่วันก็จะถึง วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งแล้ว สังคมยังปรากฏให้เห็นการคุกคามในการหาเสียงเลือกตั้งจาก "กลุ่มคนเสื้อแดง" ที่กระทำต่อพรรคการเมืองที่ตนไม่ชอบในแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา นับเป็นพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ ทำลายความปรองดอง และขัดขวางการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง มีผลให้การพูดถึงความปรองดอง ความกระตือรือร้นของ "ปูยิ่งลักษณ์" ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคเพื่อไทย ที่เอ่ยอ้างถึงความต้องการที่จะสร้างความสงบเรียบร้อย ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้คนมีสติปัญญาในสังคมเชื่อถือ คำพูดและภาพที่ปรากฏจึงเป็นเสมือน "ละครการเมือง" ที่มีการเดินเกมใต้ดินแบบคู่ขนานระหว่าง คนเสื้อแดง กับ พรรคเพื่อไทย ตราบใดที่ "คนเสื้อแดง" ยังไล่ล่า สร้างความปั่นป่วนในการเลือกตั้งใส่พรรคคู่แข่ง! แม้จะไม่รุนแรงขนาดเผาบ้านเผาเมือง หรือใช้กองกำลังใต้ดิน ที่กระทำไปพร้อมกับสร้างเรื่องป้ายสีกองทัพและข้าราชการแบบรายวัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม สภาพการเมืองวันนี้จึงมีสภาพที่เลวร้าย มีเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ที่คิดว่าหลังเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองน่าจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยโดยรวมกำลังถูกชักลากให้ดำดิ่งสู่ความอ่อนแอ เลอะเทอะ ของฝูงปีศาจประชานิยม ถูกล่อลวงแบ่งแยกโดยจอมลวงโลก และตกวนอยู่ในความรุนแรง การข่มขู่ และการใช้มวลชนคุกคามความสงบสุขของสังคม โดยอาศัยภาพแสดงแทนที่เป็นสุภาพสตรี ที่มีบุคลิกอ่อนโยน รักความสงบ บูชาความเป็นธรรม เส้นทางเยี่ยงนี้มีแต่หายนะเท่านั้นที่เป็นปลายทาง ที่สังคมจะต้องเผชิญ การหมุนของกงล้อแห่งกรรม หรือกงเกวียนกำเกวียนทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่อง ยังคงสร้างวิกฤติให้สังคมไทยต่อไป ดุจจะแสดงว่าตราบใดที่การเมืองยังเน่าเหม็น ย่อมมิอาจจะผลิตความหอมจากปฏิกูลได้ฉันนั้น ปัญหามโนทัศน์ของการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มิได้มองต้นตอแห่งความเลวร้าย ทัศนะที่ยอมรับการเมืองสีเทา รวมไปถึงการแยกไม่ออกระหว่างลัทธิประชาธิปไตยกับลัทธิเสียงข้างมาก ที่สามานย์ ในเงื่อนไขนักการเมืองขาดจิตวิญญาณประชาธิปไตยและมุ่งเข้ามาใช้ อำนาจแสวงหาผลประโยชน์หรือคอรัปชั่น ทำให้ประชาธิปไตยไทยกลายเป็นต้นไม้พิษที่ย่อมออกลูกเป็นพิษต่อไป อย่างไม่สิ้นสุด
การเลือกตั้งที่แข่งขันกันแบบไร้สติ ต้องการชัยชนะเพื่อเข้ากุมกลไกอำนาจรัฐอย่างเมามันคะนองใจ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ กฎหมาย ความสัตย์จริง และความรับผิดชอบต่อผลกรรมที่ต่อเนื่องสู่ประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม หรือที่เรียกว่า "กรรมร่วม" ซึ่งจะตามมาด้วยวิบากกรรมร่วมนั้น จึงเป็นผลพวงที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นชะตากรรมของประเทศไทย อันเนื่องจากนโยบายประชานิยมหรือประชาวิวัฒน์ที่ไร้สติ กรรมร่วมคืออะไร? ในที่นี้ขออธิบายเพื่อความเด่นชัดในการวิเคราะห์ผลกระทบของกรรมร่วม ทางสังคม จะได้เห็นมุมมองร่วมกัน ดังนี้ ความเป็นสัตว์สังคม มีมันสมองที่คิดได้ สำนึกผิดชอบชั่วดี มนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแต่หน่วยย่อย แต่ละระดับ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก กรรมหรือการกระทำของบุคคลจึงส่งผลเป็นกรรมร่วมของสังคมไป จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น ถ้ามนุษย์แต่ละคนอ้างเสรีภาพในการทำลายป่า หรือพากันลักลอบทำลายป่า ปริมาณกรรมของมนุษย์ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การทำลายจึงมีลักษณะเป็นกรรมร่วม และก่อให้เกิดวิบากกรรมร่วมได้ ใครคนหนึ่งมีเงินทุนเยอะ เป็นเจ้าของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ ถือครองที่ดินนับแสนไร่ แม้จะอ้างสิทธิตามกฎหมายในการลงทุนถูกต้องเพียงไรก็ตาม แต่คนเพียงคนเดียวก็ได้สร้างผลกรรมที่เป็นกรรมร่วมของสังคมในการ ผลิตพืชผลมหาศาลให้สังคม ขณะเดียวกันยังส่งผลเป็นวิบากกรรมร่วมต่อเกษตรกรในบริเวณนั้น ทำให้เขาแข่งขันทางการตลาดไม่ได้ ความเป็นสาธารณะ หรือบุคคลสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ พระภิกษุ ศิลปิน ข้าราชการ ผู้นำในสาขาวิชาชีพต่างๆ บทบาทหน้าที่ ระดับตำแหน่ง ความศรัทธาเชื่อถือของบุคคล ล้วนส่งผลกระทบกระเทือนเป็นกรรมร่วมทางสังคม เช่น นายกรัฐมนตรีบริหารผิดพลาด ตำแหน่งนี้จึงเป็นกรรมร่วมที่ส่งผลต่อสาธารณชนหรือบ้านเมืองสูงกว่า ส.ส. ผู้ว่าราชการ นายก อบต. หรือผู้นำชุมชน และถ้าเป็นไปในทางไม่ดีกรรมชั่ว ผลจะกลายเป็นวิบากกรรมร่วมของประเทศได้หรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับว่ากรรมนั้นเป็นอะไร อย่างไร และลักษณะผลกระทบนั้นเฉพาะหรือทั่วไปทั้งประเทศ
ตัวอย่าง นักธุรกิจคนหนึ่งในประเทศหนึ่ง อาศัยความฉลาดและเล่ห์เหลี่ยมสร้างความร่ำรวยขึ้นได้ ต่อมาใช้อำนาจเงินเข้าเล่นการเมือง กลายเป็นรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสาธารณะและกุมอำนาจรัฐไว้ในมือ หรือช่วงของชีวิต เขาสามารถสร้างความมั่งคั่งโดยติดสินบนนายทหารยุครัฐประหารเพื่อขอ สัมปทานดาวเทียมมาทำธุรกิจโทรคมนาคมจนร่ำรวยมหาศาล ทั้งสร้างวิบากกรรมร่วมแก่ประชาชนจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จากการเก็งค่าเงินโดยสมคบกับรัฐบาลปล่อยค่าเงินลอยตัว จนส่งผลให้เกิดวิบากกรรมแก่ธุรกิจอื่น มากมายล้มระเนระนาด แล้วใช้ธนาธิปไตยทุ่มในการสร้างพรรค การเมืองและลงการเลือกตั้ง จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่คอรัปชั่นที่สุดจากโครงการใหญ่ของรัฐมากมาย การให้สัมปทานแก่เครือข่ายธุรกิจการเมือง และการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ผลกรรมร่วมที่ก่อขึ้น ทำให้นักวิชาการ สื่อมวลชน และชนชั้นกลางลุกขึ้นมาคัดค้านขับไล่ เขาก็พยายามใช้กลไกอำนาจรัฐทุกวิถีทางเพื่อจะรักษาอำนาจของตนไว้ ด้วยเผด็จการรัฐสภาและครอบงำสื่อ ปลุกกระแสคนชนบทขึ้นมาโดยการให้ข่าวสารเท็จ จนสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างหนัก กระทั่งกลายเป็นวิบากกรรมทางความคิดขัดแย้งแยกขั้วที่อาศัยความรุนแรง ทำร้ายกัน และเกิดวิกฤติการเมืองต่อเนื่องยาวนาน นี่คือคำอธิบายว่ากรรมของบุคคลสาธารณะเป็นกรรมร่วมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง
หลักกรรมร่วมทางการเมืองจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลเป็นวิบากกรรม ประชาธิปไตย นั่นคือ สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาและสร้างสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาได้ แม้เวลาผ่านไปเกือบ 80 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากนักการเมืองฉ้อฉลไร้สำนึก ระบอบประชาธิปไตยไทยจึงตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ ได้แก่ มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลที่มักคอรัปชั่นหรือบ้าอำนาจ แล้วเป็นเหตุให้รัฐประหาร จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลที่สร้างปัญหา นำไปสู่การรัฐประหารโดยทหารอย่างไม่สิ้นสุด หลักกรรมร่วมและวิบากกรรมร่วมนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน หลังจากการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเป็นพรรคเสียงข้างมาก ซึ่งกำลังรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยจัดตั้งรัฐบาลร่วม 299 หรืออาจจะ 300 คนดังเป็นข่าวมาแล้ว ดังนั้น กรรมร่วมของการเมืองหรือสังคมไทยจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ คณะรัฐมนตรีทั้งชุด และรวมศูนย์ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นโคลนนิงของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร และการปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงเป็นสัญญาประชาคม
แต่หลังเลือกตั้ง บรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคธุรกิจ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบของนโยบายประชานิยมพรรคเพื่อ ไทยอย่างกว้างขวาง ถึงชัยชนะที่ได้มาจากการหว่านนโยบายประชานิยมอย่างไร้สติ ไม่มีความรับผิดชอบต่อผลที่จะเป็นกรรมร่วม หรือคำนึงถึงการปฏิบัตินโยบายประชานิยมนั้น หากส่งผลกระทบต่อสังคม และทำให้เกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ สังคม และดินแดน สังคมไทยควรที่จะยินยอมให้รัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายเหล่านั้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น
นโยบายรับจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท หรือ 20,000 บาทต่อตัน จากเดิมที่ประกันราคาราว 8,000 บาท ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ชาวนาส่วนหนึ่งได้รับผลดี เป็นกรรมร่วมเฉพาะกลุ่มอาชีพ แต่วิบากกรรมที่ห่วงกังวลกัน ได้แก่ วิบากกรรมต่อคนทั้งประเทศ เนื่องจากจะทำให้ราคาข้าวสารสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 120-185 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200-300 บาท หรือที่มีการประเมินขั้นต้นว่าราคาข้าวสารจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อให้เกิดภาระหนักแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน คนไทยควรที่จะยอมรับนโยบายประชานิยมนี้หรือไม่
นโยบายสร้างเมืองใหม่ โดยถมทะเลบริเวณปากน้ำ จ.สมุทร ปราการ ไปถึงสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ ออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และเขตสีเขียว ใช้งบประมาณมากถึง 2 ล้านล้านบาท โดยเอกชนที่จะเข้าร่วมถมทะเลกะจะฟันกำไรถึงไร่ละ 20 ล้านบาท และไม่คำนึงถึงผลกระทบระบบนิเวศทางทะเลและการขนดินทรายทั่วประเทศมา ถมสร้างเมืองใหม่ ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อแหล่งอาหาร (ปลา) ในอ่าวไทยยับเยิน
ทั้งเป็นนโยบายเกินความเป็นจริง ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่เป็น เกาะที่ขาดที่ดินอยู่อาศัย มันเกิดจากความคิดนักโทษสติแตกคนหนึ่งเสนออย่างไร้เหตุผล ชนิดคิดบ้าๆ ตามรัฐบาลดูไบ หรือสิงคโปร์ที่ไม่มีที่ดินเพียงพอ (ไทยมีที่ดินมหาศาล) เพื่อผลาญเงินเล่น หรือหาเงินเข้ากระเป๋าหวังโกงกินอภิมหาโปรเจ็กต์ ทั้งที่รู้ว่าเมืองดูไบเวิลด์ที่ถมนั้นทรุดตัวลงจนเป็นปัญหามากมายใน ปัจจุบันนี้นโยบายถมทะเลสร้างเมืองใหม่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเลอย่างยับเยิน เป็นวิบากกรรมใหญ่หลวงมากกว่าการเสนอขุดคอคอดกระในอดีต ซึ่งนักวิชาการเคยคัดค้านโดยอ้างผลการศึกษาว่า หากรัฐบาลสมัยนั้นขุดคอคอดกระ จะมีผลต่อกระแสน้ำในอ่าวไทยที่เปลี่ยนและกระทบกลับไปยังแผ่นดินบริ เวณชายฝั่งสงขลา กัดเซาะแผ่นดินสูญเสียไปอย่างใหญ่หลวงบางส่วน รัฐบาลสมัยนั้นจึงยับยั้งโครงการนี้ไป จนไม่คาดคิดว่าหลายสิบปีต่อมา พรรคเพื่อไทยกลับบังอาจเสนอนโยบายการถมทะเลจากฝั่ง 10 กิโลเมตร อย่างขาดสำนึกรับผิดชอบว่าจะทำให้แผ่นดินสูญหายไปเพียงไร หรือนิเวศอาหารทะเลจะวิบัติกลายเป็นวิบากกรรมร่วมของคนชายฝั่งและ ประชาชนเพียงใดในอนาคต
นโยบายเลือกที่รักหรือเลือกซื้อเสียงเฉพาะกลุ่ม จากการกำหนดเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 15,000 บาท โดยไม่คำนึงถึงผู้จบปริญญาโทและเอก ซึ่งอัตราเงินเดือนปริญญาโทจะน้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับ 15,000 บาท และไม่ต่ำกว่าปริญญาเอกมากนัก จะเป็นการสร้างวิบากกรรมและย่ำเหยียบผู้มีความรู้ที่สูงกว่าในระดับ ปริญญาโทและเอก ทั้งยังเป็นเงินเดือนที่กำหนดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรมและคุณภาพสูงลิ่ว เมื่อเปรียบเทียบกับปริญญาโท-เอก ผลทำให้โครงสร้างเงินเดือนของประเทศป่วนขณะนี้มีข่าวว่าหากรัฐบาลใหม่ใช้นโยบายนี้จริง รัฐบาลใหม่ก็จะถูกฟ้องศาลจากผู้จบการศึกษาที่สูงกว่า หรือจะส่งผลให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีตกงาน เมื่อผู้ประกอบการหันกลับไปรับ ปวส. หรือปริญญาโทแทน วิบากกรรมก็จะเกิดแก่ปริญญาตรีนั่นเอง และประชาชนทั่วไปจะพบปัญหาสินค้าราคาแพง เมื่อต้นทุนการผลิตภาคธุรกิจสูงตาม เช่นเดียวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ภาคธุรกิจต้นทุนสูงมาก และเท่ากับเป็นนโยบายที่บีบบังคับหรือเผด็จการให้ภาคธุรกิจเจ๊ง พร้อมกับเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ค่าครองชีพพุ่งลิ่ว และทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยล้มครืนลง
คงจะเห็นว่า นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะนี้ ชักจูงให้ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้อย่างท่วมท้น เนื่องจากปัญหาความคิดของประชาชนที่มองปัญหาเฉพาะหน้าใกล้ตัว ขาดความลุ่มลึกตระหนักถึงกรรมร่วมระยะยาว ขณะที่นักการเมืองเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ชูนโยบายประชานิยมอย่างไร้ความรับผิดชอบ คิดสั้นเพื่อให้พรรคได้รับชัยชนะ ดังนั้น ในมุมมองกรรมร่วมและวิบากกรรมร่วม หากรัฐบาลใหม่เพื่อไทยยังดื้อรั้นเข็นนโยบายต่อไป ผลเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยเนรคุณ ทำลายผู้สนับสนุนเลือกตนให้ประสบวิบากกรรมร่วมให้ยากลำบาก และอาจถึงทำให้เศรษฐกิจของชาติล่มจมได้
จะแก้ไขปัญหากรรมร่วมจากนโยบายประชานิยมที่ไร้สติอย่างไร? นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และประชาชนมีสิทธิ์ที่จะประเมินผลกระทบ และเสนอทางเลือกดังต่อไปนี้1.เมื่อเห็นภัยจากนโยบายจะส่งผลให้เกิดวิบากกรรมร่วมที่ หนักหนาสากรรจ์ หรือไม่อาจจะเสี่ยงภัยได้จากการยินยอมให้รัฐ บาลใหม่ดำเนินการต่อไป ประชาชนและภาคธุรกิจก็มีสิทธิที่จะปก ป้องตนเอง ด้วยการปฏิเสธนโยบายเหล่านั้น
2.รัฐบาลใหม่จะต้องประกาศให้ชัดเจนถึงความรับผิดชอบที่จะนำชาติไป เสี่ยงภัยจากความดื้อรั้นในการปฏิบัตินโยบายเหล่านี้ หรือยอมรับความผิดพลาดจากการเสนอนโยบายนั้นๆ ด้วยการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วทันที เพื่อให้ประชาชนเลือกนโยบายที่จริงใจและปฏิบัติได้จริง
3.ประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ยินยอมให้พรรคการ เมืองที่กำหนดนโยบายประชานิยมเสี่ยงภัยและไม่เป็นธรรม มีโอ กาสจัดตั้งรัฐบาลได้เลย
ปัญหาการต่อเนื่องของกรรมร่วมจากนโยบายประชานิยมที่เสี่ยงภัย ยังก่อให้เกิดความคิดในหมู่ประชาชน 2 ด้าน ประการแรกก็คือ น่าจะให้โอกาสพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล แล้วฟังทัศนะว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร กับอีกด้านหนึ่ง เสนอว่าไม่ควรยินยอมให้พรรคเพื่อไทยเสี่ยงภัย ประชาชนควรเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ หรือเรียกร้องให้พรรคที่ไม่มีนโยบายประชานิยมแบบเสี่ยงภัยทั้งหมด รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแทน.
จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเข้ามาของแนวคิดประชานิยม ได้เปลี่ยนรูปแบบของวิถีชีวิตของสังคมไทยจากความพอเพียง วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความถ้อยทีถ้อยอาศัย กลับกลายเป็นชีวิตที่ไม่รู้จักพอ เพียงเพื่อให้ตนเองได้มีในสิ่งที่นโยบายสนองตอบให้ เพียงเพื่อให้ตนได้อยู่อย่างสุขสบายโดยไม่ต้องเหนื่อย แต่สิ่งที่ตามมาก็คือการเสพติดประชานิยมของประชาชนนำไปสู่การรับเอาแนวคิดบริโภคนิยมมาใช้ในการดำเนินชีวิต แนวคิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพของสังคมที่เปลี่ยนไปในมุมมองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทุกคนในสังคมยอมทำทุกสิ่งเพื่อเงิน แม้แต่การขายเสียง ซึ่งต่อมาแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียง ก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปในแนวทางที่เน้นประชานิยมมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนพึ่งพอใจ นำไปสู่การสร้างนโยบายที่หวังเอาใจชนชั้นที่เป็นเป้าหมายและหาผลประโยชน์จากชัยชนะนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้ว่านโยบายที่เกิดขึ้นจากการลงคะแนนเสียงจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้ในระยะแรก หากแต่งบประมาณมหาศาลในแต่ละโครงการส่งผลกระทบถึงปริมาณหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น มันจะมีผลต่อลูกหลานของเราในอนาคตท่าหาก เงินพวกนี้งอกเงยมากๆ ฐานะทางเศรษฐกิจของเราก็คงล้มลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่นำประชานิยมไปใช้ ซึ่งเมื่อคนไทยถูกครอบงำด้วยแนวคิดนี้มากผลที่ตามมาก็คือ
ช่องว่างที่แตกต่างของชนชั้นต่างๆในสังคมจะสูงขึ้น เนื่องมาจากโครงสร้างในการเข้าถึงรายได้ที่ไม่เป็นธรรมรวมถึงภาระทางด้านภาษีและหนี้สาธารณะที่ถูกผลักให้กับคนกลุ่มนี้ จะยิ่งสร้างช่องว่างที่สูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าประชาชนจะรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋ามากหากแต่เงินเหล่านี้คือเงินในอนาคตที่พวกเขาไม่เคยตระหนักถึงเลยนั่นเอง
เมื่อนโยบายเหล่านี้ถูกใช้ไปในระยะหนึ่ง ประชากรบางส่วนจะเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและการใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาล นำไปสู่ปัญหาหนี้สิน การก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักวิ่งชิงปล้นจะมากขึ้น การฆ่ายาเสพติดจะสูงขึ้น การขายบริการทางเพศจะมากขึ้นอีก ศีลธรรมจะเสื่อมทรามลงตามไปกับวิกฤตนี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก ลัทธิ บริโภคนิยมที่เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ทุกคนมองข้ามคุณค่าของความเป็นคนเพื่อให้ได้มาซึ่ง เงิน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งที่เกิดวิกฤตเช่นเดียวกับกรีซละอาร์เจนตินา สิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือ การเสื่อมถอยของความเป็นชาติ อันเนื่องมาจากภาวการณ์ขาดแคลนและความจำเป็นอาจทำให้ประชาชนจะต้องแข่งขันและแสวงหาในสิ่งซึ่งสำคัญกับการดำรงชีวิต แม้ว่าจะต้องยอมขายความเป็นชาติของตน ให้กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามาครอบงำและถ่ายทอดชุดความคิดที่เป็นประโยชน์แก่ตนเพื่อแสวงประโยชน์จากวิกฤตของชาติได้เช่นกัน
อาจสรุปผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ทั้งที่เป็นผลกระทบทางเศรษฐ กิจ ทางสังคม/วัฒนธรรม และทางการเมืองว่า จะทำให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้สิน นั่นคือไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ การบริโภคมากมีส่วนทำให้กลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาล มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมั่นคง และประชาชนก็ต้องขึ้นต่อรัฐบาลในรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับทุนนิยม ประชาชนจึงไม่มีอำนาจที่แท้จริง
เอกสารอ้างอิง