วิกฤติเศรษฐกิจของไทยและของอาร์เจนตินา เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนยิ่งและเกี่ยวเนื่องถึงปัจจัยทางด้านสังคมและการเมือง ซึ่งฝังรากลึกมาแต่อดีต ไม่ใช่จากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่น เกิดพายุใหญ่จนนาล่มทั่วประเทศ หรือน้ำมันขึ้นราคาหลายเท่าตัว ฉะนั้นการแสวงหาคำตอบจะต้องย้อนไปดูอดีต โดยมุ่งไปที่ความคล้ายและความต่างทางสังคมและการเมืองพร้อมๆ กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ปูมหลังในอดีต
อาร์เจนตินา เป็นเอกราชจากสเปน เมื่อปี พ.ศ.2359 แต่เขาไม่มีการปกครองอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งจังหวัดต่างๆ ตกลงกันได้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเลียนแบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2396 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเบ่งบานเต็มที่ มหาอำนาจตะวันตกกำลังออกล่าอาณานิคม ไทยต้องทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398 และพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากชาวตะวันตก เพื่อจะพัฒนาประเทศและรักษาความเป็นเอกราช กล่าวได้ว่า ไทยและอาร์เจนตินามีจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ใกล้ๆ กัน การเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ จึงเริ่ม ณ จุดเปลี่ยนนั้น ไทยและอาร์เจนตินา ไม่น่าจะได้เปรียบเสียเปรียบกันในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสองประเทศมีที่ดินอุดมสมบูรณ์และอากาศเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ย้อนไปเมื่อโลกกำลังอยู่ในขบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อันได้แก่ การนำเครื่องจักรเครื่องยนต์มาใช้ในการผลิตอย่างกว้างขวาง อาร์เจนตินาและไทยไม่ได้เข้าร่วมในขบวนการนั้น แต่ชาวอาร์เจนตินามีรายได้สูงกว่าชาวไทย เพราะสินค้าเกษตรหลักที่เขาส่งออก ซึ่งได้แก่ เนื้อวัว อยู่ในความต้องการของประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าสินค้าหลักของไทยซึ่งได้แก่ ข้าว นอกจากนั้น วัดกันตามน้ำหนัก เนื้อวัวมีราคาสูงกว่าข้าว และชาวนาอาร์เจนตินาคนหนึ่งยังสามารถเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้า แพมพัส ของเขาได้มากกว่าชาวนาไทยคนหนึ่งผลิตข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
แม้อาร์เจนตินาจะเริ่มใช้รัฐธรรมนูญแนวประชาธิปไตยปกครองประเทศ หลังปี พ.ศ. 2396 แต่การปฏิบัติจริงๆ แทบจะไม่ใกล้ความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะมีการใช้เงินและบารมีของเศรษฐีที่ดินเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง การใช้วิชามารต่างๆ และการโกงการเลือกตั้งโดยตรง เมื่อถึง พ.ศ.2473 หรือ 77 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทหารทนดูความเละเทะของนักการเมืองไม่ไหว จึงปฏิวัติล้มเลิกรัฐธรรมนูญ จากวันนั้นทหารก็ปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อไม่เห็นด้วยกับพลเรือนหรือเมื่อแตกแยกกันเอง ทหารปกครองประเทศมาเป็นช่วงๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2525 จึงยอมสละอำนาจให้พลเรือนสำหรับประเทศไทย ตอนทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ไทยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และใช้การปกครองนั้นเรื่อยมาอีก 77 ปี จึงเกิดการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 เพื่อหวังจะเปลี่ยนให้เป็นระบอบประชาธิปไตย
ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว การปฏิบัติจริงๆ ห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมาก เพราะรัฐธรรมนูญมักถูกร่างขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีการโกงการเลือกตั้ง การหว่านเงิน การใช้นักเลงท้องถิ่นและการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำอีก ทหารปฏิวัติครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2535 และคืนอำนาจให้พลเรือนไม่นานหลังจากนั้น
สรุปว่าทั้งชาวอาร์เจนตินา และชาวไทยมีเจตนารมณ์ที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครอง ชาวอาร์เจนตินาพยายามปลูกฝังประชาธิปไตยมา 150 ปี ส่วนไทยได้พยายามมา 71 ปี แต่รากของประชาธิปไตย ดูจะยังไม่หยั่งลงไปลึก และกว้างพอ ที่จะทำให้สองสังคมนี้ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมั่นคง ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่ทั้งสองประเทศพยายามพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้นที่ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกลุ่มอื่นๆ ที่พยายามใช้วิธีผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน สงครามกองโจรเกิดขึ้นในทั้งสองประเทศ ผู้มีอำนาจในทั้งสองประเทศใช้การปราบปรามประชาชนแบบโหดร้ายไร้มนุษยธรรม และลิดรอนสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งคราว นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศยังมีประวัติทางการใช้กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ในแนวของกลุ่ม นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ตนต้องการอีกด้วย วิวัฒนาการทางการเมืองและสังคมต่างๆ นี้ น่าจะบ่งว่า โดยทั่วไปชาวอาร์เจนตินาและชาวไทยมีฐานความคิดไม่ต่างกัน นั่นคือ การไม่ค่อยเคารพต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ว่ากฎเกณฑ์นั้นจะมาจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับที่ตัวเองสร้างขึ้น หรือศีลธรรมจรรยาและความเหมาะสม ซึ่งเป็นฐานทางวัฒนธรรมของตนมาแต่เก่าก่อน อาจจะมีผู้แย้งว่า ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้วก็มีคนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ นั่นเป็นความจริง แต่ที่ต่างกับสังคมไทยและอาร์เจนตินา ได้แก่ ในสังคมเหล่านั้น การไม่ทำตาวิวัฒนาการในอาร์เจนตินาบ่งว่า เมื่อรัฐบาลหนึ่ง เริ่มใช้ประชานิยมแล้ว รัฐบาลที่ตามมา มักต้องใช้ด้วย เพราะผู้ที่เคยได้ประโยชน์ จะไม่ยอมเสียประโยชน์
อาร์เจนตินาประสบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2415 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2433 วิกฤติทั้งสองครั้ง มีลักษณะของฟองสบู่ร่วมกัน แต่ครั้งหลังร้ายแรงมากกว่าครั้งแรก กระบวนการฟองสบู่เริ่มจากการไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ของเงินทุนจำนวนมหาศาล ทั้งในรูปของการกู้ยืมของรัฐบาล ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และในรูปของทุนเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเพื่อการเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง ทำให้ดูเสมือนว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูง และทุกคนรู้สึกร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่แท้ที่จริงมันเป็นภาพลวงอันเกิดจากการยืมเงินผู้อื่นมาแบ่งปันกัน นำไปสู่การบริโภคอย่างเมามัน เมื่อเงินทุนหยุดไหลเข้ามา แต่ตรงข้าม บางส่วนถูกถอนกลับออกไปนอกประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะชาวต่างประเทศ เริ่มมองเห็นพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลนั้น ฟองสบู่ก็แตก เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ต่อมาอาร์เจนตินาก็ประสบวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะเกิดขึ้นหลังของอาร์เจนตินากว่า 100 ปี วิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงครั้งแรกของไทย มีลักษณะฟองสบู่ เหมือนกับของอาร์เจนตินาทุกอย่าง มองจากแง่นี้เราอาจกล่าวว่า วิกฤติครั้งที่แล้วเกิดจากการอยากรวยทางลัดของคนไทยเกือบทั่วประเทศ ประกอบกับการละเลยต่อหน้าที่ และพฤติกรรมที่ส่อไปในทางฉ้อฉล ของผู้มีอำนาจ ถ้าคนไทยส่วนมากได้บทเรียนจากวิกฤติที่ผ่านมา และเรียนรู้จากบทเรียนของอาร์เจนตินา และนำมาใช้อย่างถูกต้อง วิกฤติอาจไม่เกิดอีก ปัจจุบันนี้ไทยมีลักษณะบางอย่างคล้ายอาร์เจนตินา ซึ่งอาจจะเรียกว่าติดเชื้อโรคละตินอเมริกาแล้ว นั่นคือ รัฐบาลมีหนี้สินมาก ความฉ้อฉลในสังคมมีอยู่สูง และรายได้ของชาติส่วนมาก ไปตกอยู่กับคนรวยเพียงกลุ่มเล็กๆ ลักษณะเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ไทยต่างกับอาร์เจนตินาอย่างยิ่งในด้านหนึ่งคือ ไทยไม่เคยมีวัฒนธรรม ในการแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ด้วยการใช้เงินสำรองของประเทศจนหมดสิ้น และพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม จนเกินฐานเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อร้ายแรง วัฒนธรรมนี้เปรียบเสมือนเขื่อนหรือปราการสุดท้ายสำหรับปกป้องสังคมไทย หากมันไม่ถูกทำลาย โอกาสที่ไทยจะประสบวิกฤติซ้ำซากจนเศรษฐกิจล่มสลายจะลดลง
ในความเห็นของคนส่วนใหญ่ ซึ่งได้ศึกษาความเป็นไปของอาร์เจนตินา สาเหตุหลักที่ทำให้อาร์เจนตินา ต้องประสบวิกฤติซ้ำซากในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว ได้แก่ ลัทธิประชานิยม ซึ่งเข้าไปมีบทบาทในอาร์เจนตินา หลังจากฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2433 เริ่มด้วยชาวอาร์เจนตินาเลือกพรรคการเมือง ซึ่งชูลัทธิประชานิยม เข้าเป็นรัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดี ฮิโปลิโต อิริโกเยน เป็นผู้นำ หลังจากนั้นลัทธิประชานิยมก็ "มอมเมา" ชาวอาร์เจนตินาคล้ายยาเสพติดมาเรื่อย และมาเบ่งบานเต็มที่เมื่อสมัย ฮวน เปโรน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
พิษของยาเสพติดนั้น ยังมีผลมาถึงปัจจุบัน เพราะกฎหมายรักษาผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มยังไม่ได้ถูกยกเลิก และชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากยังคาดหวังที่จะได้ความเอื้ออาทรหรือ "ของเปล่า" จากรัฐบาลซึ่งมักหา "ของเปล่า" มาแจกด้วยการหยิบยืม และการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลมากกว่ากฎเกณฑ์ที่มีในสัดส่วนที่แตกต่างมาก มันจึงไม่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจุดนี้เองนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีคาร์ลอส เมเนม ผู้นำประเทศไปสู่ความล่มสลายนั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้จะของลงรายละเอียดในส่วนของพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อมอมเมาประชาชน ดังนี้
อาร์เจนตินาเป็นสาธารณรัฐที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่มากถึง 2.7 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่โตกว่าพื้นที่ประเทศไทยของเราตั้ง 5 เท่า เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพวกอินเดียแดง ที่มีประชากรประมาณ 3 แสนคน เมื่อพ.ศ.2059 จึงเริ่มมีคนสเปนเข้ามาอยู่ อีก 10 ปีต่อมา พ.ศ.2069 พวกอิตาลีก็เข้ามาสร้างป้อมค่ายและสถาปนาอำนาจขึ้นแถบลุ่มแม่นํ้าปารานา และปารากวัยในนามของพวกสเปนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนสเปนและคนอิตาลีก็จึงค่อยๆทยอยกันเข้ามาอยู่ในดินแดนอาร์เจนตินา กระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้ ประชากรร้อยละ 97 ของอาร์เจนตินา เป็นมนุษย์เชื้อสายสเปนและอิตาลี ผู้อ่านท่านก็คงจะทราบว่า คนสองชาตินี่เป็นพวกขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัยในการใช้เงินและการใช้ชีวิตดีพอสมควร สาธารณรัฐอาร์เจนตินาเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงสามารถปลูกพืชผลที่ทั้งใช้บริโภคภายในประเทศ และยังส่งเป็นสินค้าออกได้อีกด้วย ประเทศนี้จึงเป็นประเทศแถวหน้า ในการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวไรย์ ทานตะวัน ฝ้าย และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก เคยได้รับฉายาเป็น “ประเทศยุโรปในลาตินอเมริกา” ก็เพราะโครงสร้างทางสังคมคล้ายคลึงกับประเทศพัฒนาแล้ว อาร์เจนตินาจัดให้เป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีความอัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (economic miracle) เพราะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงซึ่งถูกขนานนามว่า “อัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” หรือ “ดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ” และเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
ดาวรุ่งเศรษฐกิจ
เมื่อราวกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงเวลาที่ไล่เรี่ยกับประเทศไทยเปิดวิเทศธนกิจ (BIBF) ในปี ค.ศ. 1993 เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ถูกขนานนามว่า “ดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ” เช่นเกาหลีใต้ เม็กซิโก และมาเลเซีย แต่แล้วในที่สุดประเทศที่ ก็กลับต้องมีอันเป็นไป ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจากภาวะหนี้ต่างประเทศท่วมท้น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนต่างประเทศไหลออก วิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้พลเมืองของอาร์เจนตินาต้องประสบกับความทุกข์ยากแสนสาหัสไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะพลเมืองที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับกลางไปถึงระดับล่างหรือระดับรากหญ้า ซึ่งทุกข์ยากจนถึงกับออกมาประท้วงถามถนนหลายครั้ง ปัญหาของการมีหนี้สะสมจนถึงขั้นวิกฤต ได้ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อประเทศ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศตกต่ำลงอย่างมาก กิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ลง ภาวการณ์บริหารกิจการต่าง ๆ ล้มเหลว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ได้เงินมาแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณและลดหนี้สินต่างประเทศ หลังจากการแปรรูป กิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้กำไรอย่างมหาศาล แต่กิจการเหล่านี้เป็นของกลุ่มทุนต่างชาติ และรัฐบาลต้องแบกรับหนี้ระยะยาวของกิจการเหล่านี้ที่โอนมาให้รัฐบาลก่อนขาย ทั้งหมดก็เท่ากับว่ารัฐได้ยกกิจการของรัฐซึ่งประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของ ไปให้กลุ่มทุนต่างชาติและกลุ่มทุนใหญ่ โดยที่นักการเมือง ญาติพี่น้อง ผู้บริหารระดับสูง ได้โอนเงินไปฝากในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แล้วปล่อยให้ประชาชนรับกรรมจากการบริการที่แย่ลง แต่มีราคาแพงขึ้นส่งผลให้เป็นหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก
พัฒนาการของปัญหา
นายอัลฟองซีน เป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการที่จะพัฒนาอาร์เจนตินาให้เป็นประเทศชั้นนำอันดับหนึ่งของอเมริกาใต้ เขาได้เสนอโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาร์ เจนตินา เช่น การปฏิรูประบบราชการ การเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองแผ่นดิน การเอารัฐวิสาหกิจออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือให้สัมปทานการเปิดเสรีการค้า ฯลฯ เมื่อแผนพัฒนาประเทศดังกล่าวถูกนำสู่สาธารณ ชน และเข้าสู่สภา ปรากฏว่าได้รับการต่อต้านจากประชาชน และฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำฝ่ายค้าน นายเมเนม ได้กล่าวหาว่า นายฟองซีน และพวกเป็นคนขายชาติ ขายแผ่นดิน มีผลให้นายฟองซีนต้องหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่จะครบวาระ
คาร์ลอส เมเนม |
ในปี ค.ศ. 1989 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่ง คาร์ลอส เมเนม (Carlos Menem) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อจากนายฟองซีนและครองเสียงข้างมากในสภา เข้าคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ชัยชนะที่ได้มานั้นมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่นการใช้เงินซื้อเสียงด้วยวิธีการต่างๆ การใช้นโยบายหลอกล่อประชาชนให้หลงเชื่อ และการทำลายฝ่ายตรงข้าม เมื่อเข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้งเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ สื่อต่างๆ ของอาร์เจนตินาตกอยู่ภายใต้ความครอบงำของรัฐบาล เมเนม สื่อโทรทัศน์ของรัฐ และเอกชนถูกสั่งโดยทางตรง และทางอ้อมให้ปิดหูปิดตาประชาชนเสมอ และได้พยายามสร้างและหาความนิยมจากประชาชน กล่าวคือ อะไรที่อัลฟองซีนทำ เขาบอกว่าจะไม่ทำ จะคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อประชาชน และประเทศ เขาได้บริหารประเทศโดยใช้นโยบาย ลดแลก แจก แถม หรือที่เรียกทั่วๆ ไปว่า "ประชานิยม" คือเอาเงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้ในการหาเสียงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อเมเนมเข้าบริหารประเทศก็ได้หาวิธีการหยุดยั้งการลดลงของค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา โดยวิธีการนำเอาเงินเปโซค่าตรึงตายตัวกับเงินดอลล่าร์สหรัฐในอัตรา 1 : 1 ซึ่งก็ได้ผลเพราะทำให้ค่าเงินเปโซมีเสถียรภาพเป็นที่น่าไว้วางใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ ประจวบกับในปี ค.ศ. 1989 ค่ายสังคมนิยมล่มสลายจากการรื้อกำแพงเบอร์ลินที่กั้นระหว่างเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกทิ้งไป และรวมเป็นเยอรมนีประเทศเดียว จึงทำให้นักลงทุนทั้งจากสหรัฐและยุโรปกล้าสยายปีกไปลงทุนในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาร์เจนตินาก็ได้รับผลดีนี้ตามมาด้วยและได้รับค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในย่านเดียวกัน เนื่องจากได้ตรึงค่าเงินเปโซไว้กับดอลลาร์อย่างมั่นคง
อันที่จริง การผูกค่าเงินเปโซไว้ตายตัวกับเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินสกุลหลัก ก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากการผูกเรือไว้กับท่าเรือ เพราะแม้เรือจะไม่ล่องลอยไปไหน แต่เรือก็ลอยระดับขึ้นลงตามระดับน้ำอยู่ตลอดเวลา ในกรณีถ้าเปรียบเงินเปโซเป็นเหมือนเรือและดอลลาร์สหรัฐเหมือนน้ำ ก็จะเห็นว่าถ้าระดับน้ำเพิ่มสูงมากจนเกินกว่าความยาวของเชือกที่ผูกยึดเรือไว้กับท่าเรือก็จะพลิกล่มได้ในที่สุด จากการเปรียบเทียบข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าการผูกค่าเงินเปโซไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ได้ทำให้เงินเปโซเสียหายเมื่อค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงที่เรียกว่า “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ของสหรัฐ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี1995 อันเป็นปีที่ก่อตั้งองค์การการค้าโลกเป็นต้นมา การสูงขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐได้ดึงให้เงินเปโซมีค่าแข็งขึ้นตามความเป็นจริง และได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของอาร์เจนตินามาตั้งแต่เมื่อราวปี 1998 เพราะสินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น มูลค่าการส่งออกที่น้อยลง ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ดุลงบประมาณก็ขาดดุลสูงจนต้องกู้จากต่างประเทศมาชดเชย ซึ่งต่อมาความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงด้วย และกระทบต่อความเชื่อถือของประเทศ ซึ่งล่าสุดแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟก็ยังไม่อยากให้กู้ วิกฤตครั้งนี้จึงถือว่าร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์อาร์เจนตินาในประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา
วิกฤตของอาร์เจนตินา
หนี้สาธารณะของอาร์เจนติน่า |
วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนตินานับว่ารุนแรงที่สุดในโลก เมื่อผลของมันทำให้คนยากจนลงทันทีเพราะขาดรายได้ และสูญเสียเงินออม และเกิดการว่างงานมากมายมหาศาล ต้นเหตุก็เพราะหนี้ของประเทศท่วมท้น และอุตสาหกรรมส่งออกที่ตกต่ำ ทางออกที่ไอเอ็มเอฟ เสนอให้กลับซ้ำเติมวิกฤติจนชาวอาร์เจนตินาออกมารวมกลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และทำให้การเมืองกลายเป็นจุดชี้ขาดอนาคตของชาติ หนี้ต่างประเทศของอาร์เจนตินาพุ่งขึ้นไปถึง 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจาก นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ตายตัวโดยผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์มาตลอด ทศวรรษ 1990 นโยบายนี้มีรัฐเป็นผู้ค้ำจุนกำไรของเอกชนโดยให้หลักประกันว่า อัตราแลกเปลี่ยน 1 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์ จะดำรงคงอยู่นานเท่านาน กลุ่มทุน และภาครัฐจึงนำเงินลงทุนจากนอกประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าในประเทศเข้ามาอย่างมหาศาล ทำให้ช่วงครึ่งทศวรรษแรกอาร์เจนตินาเจริญเติบโตราวมหัศจรรย์เฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปี อุตสาหกรรมส่งออกขยายตัวอย่างมาก
การส่งออกเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเม็กซิโก ปี 1995 ตามมาด้วยวิกฤติเอเชียปี 1997 และบราซิล ปี 1999 การลดค่าเงินสกุลของประเทศเหล่านี้เท่ากับส่งออกวิกฤติไปยังประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการส่งออก เพราะทำให้ราคาสินค้าส่งออก ของตนถูกกว่า การตัดราคาดังกล่าว ทำให้การส่งออกของอาร์เจนตินา ประสบภาวะชะงักงันอย่างรุนแรง ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1998 และกลายเป็นวิกฤติในปี 2001 เมื่อ GDP ตกลงเหลือ 1.5 และคาดว่าปีนี้จะติดลบถึงร้อยละ 15 ธุรกิจล้มละลายจนต้องปิดกิจการไปกว่า 3,000 แห่ง ที่สุดรัฐบาลต้องลดค่าเงินเปโซ วิกฤติลุกลามถึงรัฐบาลในปัญหาหนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ก็สูงถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณแล้ว ทำให้รัฐต้องใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยตัดเงินเดือน และบำนาญของข้าราชการลงไปร้อยละ 13 และจ่ายเป็นบอนด์อายุ 1 ปี (patacones) แทนเงินสด ขณะเดียวกัน ภายใต้การบงการของไอเอ็มเอฟ รัฐใช้งบประมาณได้จำกัดเพียงแค่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเท่านั้น (zero deficit) เท่ากับรัฐหมดพลังในการแก้ไขวิกฤติของชาติไปเลย ที่ซ้ำร้ายคือ เมื่อรัฐให้เงินอุดหนุนธนาคารเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่กลางปี 2001 เพื่อรองรับ การถอนเงินฝากของประชาชน แต่ก็ไม่เพียงพอ BBC ระบุว่าเงินฝากในธนาคารลดลงถึง 65,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังได้สั่งให้ทางการยุติการอุดหนุนนี้แล้ว เพื่อให้รัฐเก็บรักษาทุนสำรองไว้ใช้หนี้ต่างประเทศ และที่สุดกลุ่มทุนธนาคาร กลัวทุนของตนจะหดหาย ได้เรียกร้องให้รัฐ โดยผ่านการตัดสินของศาลสูงอาร์เจนตินา ออกกฎห้ามการถอนเงินจากธนาคาร (corraiito) ภายใต้มาตรการเหล่านี้ ทำให้ชาวอาร์เจนตินาอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว Guardian ระบุว่า คนว่างงานพุ่งขึ้นจากร้อยละ 18 ในปี 2001 มาเป็นร้อยละ 24 ในปีนี้ ประชากร 20 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะยากจน และในจำนวนนี้มีถึง 7.8 ล้านคน ที่ไม่อาจหาปัจจัยสี่มายังชีพได้ ภายหลังลดค่าเงิน GDP ต่อหัวตกลงจาก 8,950 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือแค่ 2,493 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าจ้างตกร้อยละ 50 คนงานมีรายได้เพียง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ขณะที่รายได้ที่เส้นยากจนนั้นอยู่ที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ยิ่งไปกว่านั้นราคาค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ส่วนอาหารเพิ่มร้อยละ 50 และยาแพงจนโรงพยาบาลขาดวัคซีน และยาปฏิชีวนะ
ชีวิตที่เลวร้ายลงโดยฉับพลันทำให้ชาวอาร์เจนตินาลุกขึ้นรวมตัวต่อสู้ และหาทางออก กลางปี 2001 ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกลดเงินเดือนออกมาประท้วง ตามมาด้วยคลื่นมหาชนของคนงาน แม่บ้าน คนงานวัยเกษียณ คนตกงาน เป็นต้นกว่า 40,000 คน รวมตัวกันตีหม้อไหประท้วง (cacerolas) จนเกิดการจลาจลทั่วกรุงบูเอโนสไอเรส
อาร์เจนตินาเกิดวิกฤติชะงักงัน เงินเฟ้อพุ่งเพราะรัฐบาลใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจ และนโยบายประชานิยม การเมืองอาร์เจนตินาผ่านการเมืองแบบเลือกตั้งสลับกับเผด็จการทหารขณะที่เศรษฐกิจเผชิญเงินเฟ้อพุ่งสลับกับภาวะตกต่ำตลอดสี่สิบปี รัฐบาลทุกยุคสมัยต้องพิมพ์ธนบัตรและกู้หนี้ต่างประเทศเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจทั้งระบบที่ขาดทุนอย่างหนัก และใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต่างๆ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด เงินเฟ้อสูงถึง 20,000% ต่อปี หนี้ต่างประเทศที่เกิดจากการอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมีสูงถึง 64,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 38.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบเป็นศูนย์ รัฐบาลจำต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด เริ่มจากการลดอัตราภาษีศุลกากร ลดการคุ้มครองธุรกิจในประเทศ ให้สินค้านำเข้ามาแข่งขันได้ และแก้ไขกฎระเบียบส่งเสริมการส่งออก และออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจ นำมาใช้ในการบริหารประเทศอาร์เจนตินา แผนหลักสำคัญๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีการค้า การให้สิทธิต่างชาติซื้อแผ่นดิน การปฏิรูประบบราชการ การยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในชาติ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เมเนม เคยต่อต้านในช่วงที่ตนเองเป็นฝ่ายค้าน แต่พอมามีอำนาจกลับนำมาใช้ เพราะเห็นว่าสามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง และพรรคพวกได้
ระบบรัฐวิสาหกิจหยั่งรากลึกในเศรษฐกิจอาร์เจนตินา มีกิจการทุกประเภท ตั้งแต่สาธารณูปโภค เชื้อเพลิง ขนส่ง ไปถึงห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ บาร์ไนท์คลับ คณะละครสัตว์ และโบสถ์คริสต์ เกือบทั้งหมดขาดทุนอย่างหนัก เป็นภาระที่รัฐบาลต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงจำนวนมหาศาลทุกปีและเป็นรากเหง้าของปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีทั้งยุบเลิกและแปลงสภาพเป็นบริษัทขายให้เอกชนไปดำเนินการ แล้วนำเงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ ผลก็คือ เงินเฟ้อลดต่ำกว่า 10% ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเติบโตในอัตรา 7.9% ต่อปีในช่วง 2536-37 แต่ปัญหาใหญ่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ หนี้ต่างประเทศลดลงไม่มาก รวมทั้งการใช้จ่ายเกินตัวทั้งของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น
การขายรัฐวิสาหกิจ เขาใช้สื่อหลอกลวงประชาชนว่า รัฐวิสาหกิจเป็นภาระของรัฐบาล มีการโกงกิน การบริหารไร้สมรรถภาพ ต้องแปรรูปเอาหุ้นเข้าตลาดหลัก ทรัพย์ หรือไม่ก็ขายสัมปทาน ความจริงแล้วรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีกำไร และนำเงินเข้าสู่รัฐ เพื่อนำมาใช้สอยสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน แค่ปรับปรุง และปราบการโกงกินก็ย่อมทำได้แต่ไม่ทำ เพราะถ้าเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์จะสามารถปันเงินเข้ากระเป๋าตัวเองและพรรคพวก แรกๆ พนักงานรัฐวิสาหกิจ สหภาพต่างๆ ออกมาคัดค้าน รัฐบาลของนายเมเนม ก็ให้สินบนผู้คัดค้านเหล่านั้นด้วยการขายหุ้นในราคาถูกบ้าง ให้หุ้นฟรีบ้าง สัญญาว่าจะขึ้นเงินเดือน 20-30% บ้าง จะไม่มีการไล่ออกบ้าง การให้สินบนก็เอาเงินภาษีของประชาชนมาปิดปากการคัดค้าน พวกขายตัวก็เงียบไปยอมสยบกับรัฐบาล แต่ในที่สุดรัฐบาลแทบไม่ได้ทำตามสัญญาเลย รัฐบาลนายเมเนมได้เอารัฐวิสาหกิจแทบทุกอย่างออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ เที่ยวหลอกลวงประชา ชนว่าไม่ต้องห่วงรัฐยังถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ และจะไม่ขายให้แก่ต่างชาติ สุดท้ายเขา และพรรคพวกใช้อำนาจบริหารกวาดหุ้น ปั่นหุ้น ทำเงินเข้ากระเป๋าเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ ยังไม่นับรายได้จากการขายสัมปทานของรัฐโดยตรง ในที่สุด รัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ตกอยู่ในมือของพวกนักธุรกิจการเมือง และตกอยู่ในมือคนต่างชาติ เช่น กิจการประปาตกอยู่ในมือของอังกฤษและฝรั่งเศส ไฟฟ้าตกอยู่ในมือของแคนาดา ฝรั่งเศส และอเมริกา กิจการสายการบินตกอยู่ในมือของสเปน กิจการโทรศัพท์ตกอยู่ในมือของสเปน เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่าเขานำภัยสู่ประชาชนอย่างไรกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น ไฟฟ้าและประปา อาร์เจนตินาผลิตไฟฟ้าประมาณ 50% โดยใช้พลังน้ำตก ที่เหลือใช้น้ำมันก๊าด และถ่านหินซึ่งเกือบทั้งหมดมีอยู่ในประเทศ ซึ่งนับว่าต้นทุนถูกมาก หลังจากแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ และตกอยู่ในมือของพวกเศรษฐีและต่างชาติแล้ว ราคาค่าไฟเพิ่มขึ้นมาถึงหน่วยละประมาณ 6.50 บาท ในขณะที่ประเทศไทยต้องซื้อก๊าซ น้ำมัน ถ่านหินจากต่างชาติ ขณะที่เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ทุกวันนี้ค่าไฟหน่วยละประมาณแค่ 2.50 บาท ตามชนบทห่างไกล การไฟฟ้ายังทำกำไรนับพันๆ ล้าน หลังจากเอากำไรบางส่วนไปพัฒนาเขตที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อแปรรูปประปาแล้ว น้ำประปาในอาร์เจนตินาแพงถึงขนาดคนต้องตาย เพราะขอน้ำใครกินไม่ได้ ไม่มีใครให้เพราะน้ำแพง คนที่ตายไปเพราะขอน้ำใครกินไม่ได้ เขาถึงกับตั้งศาลเพียงตาไว้ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่แปรรูปแล้วประชาชนไม่เดือดร้อนและนักการเมืองไม่โกงกิน โทรศัพท์เมื่อแปรไปแล้ว ราคาแพงสุดโหด และหุ้นใหญ่ตกไปอยู่ในมือขององค์การโทรศัพท์สเปน 2 ปี ที่ผ่านมา องค์การโทรศัพท์ของสเปนประกาศว่ากำไรของเขาลดลงไป 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเหตุการณ์วิกฤตในอาร์เจนตินา คิดดูแล้วกันว่าต่างชาติขนเงินออกจากอาร์เจนตินาเท่าไรเมื่อรัฐวิสาหกิจตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
เมเนมได้ออกกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาซื้อแผนดินได้ โดยหวังที่จะให้เงินลงทุนมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าต่างชาติได้เข้ามาซื้อที่ดินในรูปแบบต่างๆ จอร์จ โซรอส แค่รายเดียว ซื้อที่ดินในอาร์เจนตินาเกือบล้านไร่ ในช่วงไม่กี่ปีต่างชาติเข้าครองแผ่นดินอาร์เจนตินาถึง 40% สร้างความวิบัติให้แก่สังคมอย่างมหาศาล การเปิดเสรีการค้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างความวิบัติ พวกนักธุรกิจการเมืองในรัฐบาลเมเนม มีผลประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติในสาขาต่างๆ เช่น การค้าปลีกค้าส่ง ปล่อยและร่วมมือให้ร้านค้าขนาดยักษ์ต่างชาติเข้ามาทำลายร้านค้าขนาดย่อมขนาดเล็ก สร้างความหายนะให้แก่คนอาร์เจนตินาล้านๆ คน นอกจากนั้น กิจการภาคบริการก็ถูกต่างชาติยึดอีก คนชั้นกลางของอาร์เจนตินาต้องกลายเป็นคนจนนับล้านๆ คนเพียงแค่ 2-3 ปี
วิธีบริหารประเทศของเมเนม ใช้คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายบริหารประเทศเป็นหลัก มือหนึ่งเขาจะใช้กลยุทธ์การบริหาร และการตลาดตลอดจนการประชาสัมพันธ์หลอกลวงประชาชนด้วยโครงการต่างๆ เพื่อให้ตายใจ ส่วนอีกมือหนึ่งเขาจะหยิบเอาสมบัติของคนทั้งชาติ เช่นรัฐวิสาหกิจไปปั่นหุ้นขายหาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง และพรรคพวก สมคบกับต่างชาตินำทุนข้าม ชาติมาทำลายทุนใหญ่น้อยในชาติ กู้เงินมาลงทุนสร้างโครงการที่ไม่มีความจำเป็น เช่นสนามบิน เป็นต้น เพื่อที่จะได้ค่าใต้โต๊ะเป็นการตอบแทน
คนอาร์เจนตินาตกงานนับล้านๆ คน รัฐบาลสั่งห้ามคนอาร์เจนตินาถอนเงินฝากของตน นอกจากเอามาใช้ซื้ออาหารกินเดือนละ 1,200 เปโซ เด็กในเมืองหลวงนับล้านไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ เพราะรัฐไม่มีเงินช่วยเหลือ ผู้คน และเด็กอดอาหารนับล้านคน ทั้งๆ ที่อาร์เจนตินาผลิตอาหารเลี้ยงคนได้ถึง 200 ล้านคน อาร์เจนตินามีพลเมืองแค่ 37 ล้านคน แต่เนื่องจากแผ่นดินการเกษตรตกอยู่ในมือต่างชาติ จึงผลิตเพื่อการส่งออก อาชญากรรมระบาดไปทั่ว
แสดงอัตราความยากจนที่ถีบตัวสูงขึ้น |
ทุกวันนี้พลเมืองอาร์เจนตินาราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 18 ล้านคน ล้วนเป็นผู้มีฐานะยากจน มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน การหดตัวของธุรกิจอย่างขนานใหญ่ได้ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ปริมาณการผลิตที่ลดลงส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น คนอาร์เจนตินา จะใช้ชีวิตออกไปนอนตามสวนสาธารณะในเวลากลางวัน เนื่องจากว่างงานและเมื่อถึงเวลากินก็จะไปเข้าคิวแจกอาหารซึ่งเหลือทิ้งจากร้านอาหารและภัตตาคารเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ คนยากจนในอาร์เจนตินาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สาเหตุหลักของความตกต่ำของอาร์เจนตินา
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุหลักของความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาครั้งนี้ ก็พบว่ามาจาก 3 ประการด้วยกัน คือ
ความอ่อนค่าของค่าเงินเปโซ |
ประการแรก การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ที่สำคัญคือ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเปโซอาร์เจนตินาไว้ตายตัวกับเงินดอลลาร์ แม้ว่าจะทำให้ค่าเงินเปโซมีเสถียรภาพ แต่ก็เป็นเสถียรภาพเฉพาะกับเงินดอลลาร์และเป็นเสถียรภาพตามอัตราแลกเปลี่ยนทางการเท่านั้น เพราะทุกครั้งที่ค่าเงินดอลลาร์ไหวตัว การผูกค่าเงินเปโซกับดอลลาร์แม้จะไม่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการที่กำหนดไว้ 1 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์เปลี่ยนแปลงก็จริง แต่อัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดจะไม่คงที่ตายตัว และจะเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเอง การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับดอลลาร์ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตที่เม็กซิโก เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากดินแดนละตินอเมริกา อาร์เจนตินาจึงพลอยได้รับผลไปด้วย ตาอมาเมื่อวิกฤตที่ไทยซึ่งขยายไปในย่านเอเซีย ก็ส่งผลไปถึงละตินอเมริกาอีกสุดท้ายเมื่อเกิดวิกฤตที่บราซิล ค่าเงินรีอัลลดลง สินค้าออกของบราซิลถูกลง แต่การที่ตรึงค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาคงที่ทำให้อาร์เจนตินาส่งออกได้น้อยลง ปัญหาเศรษฐกิจจึงตามมาเป็นลูกโซ่ คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ต้องกู้เงินมาใช้มากขึ้น หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นและเงินทุนต่างประเทศไหลออกไม่หยุดค่าเงินเปโซในตลาดทรุดลงอย่างรวดเร็วและเกิดเงินเฟ้อรุนแรง
ประการที่สอง การบริหารงานของรัฐขาดหลักธรรมาภิบาล ผลจาการทุจริตคอร์รัปชันในทางรัฐบาลได้ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีการรั่วไหลเสียหายเป็นอันมาก นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของผู้วางแผนภาครัฐโน้มเอียงที่เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาค่าเงินเปโซ รัฐบาลก็ไม่ได้ยกเลิกผูกค่าเงินเปโซกับเงินดอลลาร์ในทันที ทั้งนี้เพราะรัฐบาลมีความเกรงใจนักลงทุนต่างชาติ จึงประวิงเวลาเพื่อช่วยให้นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในอาร์เจนตินาขนเงินดอลลาร์กลับออกไปได้โดยไม่ขาดทุน นั่นคือ นักลงทุนต่างชาติสามรถเอาเงินเปโซที่มีอยู่มาแลกกับดอลลาร์ในอัตราที่ 1 ต่อ 1 ตามเดิม ทั้งที่อัตราในท้องตลาด 1 เปโซที่ถืออยู่จะแลกกลับไปได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์ การเอื้อนักลงทุนต่างชาติในลักษณะนี้ ได้ทำให้ทุนสำรองของประเทศที่เป็นเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็วแทบไม่เหลือ และเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ยิ่งเลวร้ายลง
ประการที่สาม อิทธิพลจากภายนอก มาจากคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาแก่อารืเจนตินาชนิดที่สวนทางกับธรรมชาติของเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่ออนุมัติเงินให้กู้ ไอเอ็มเอฟก็จะกำหนดเงื่อนไขให้อาร์เจนตินาใช้นโยบายเศรษฐกิจหดตัวด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ตัดการใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มภาษี ลดสวัสดิการ และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อลดการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยอ้างว่าจะช่วยลดภาวะเงินเฟ้ออันเกิดจากอุปสงค์ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจในประเทศเต็มไปด้วยคนว่างงาน และกำลังซื้อในตลาดมีน้องอยู่แล้ว แนงทางแก้ปัญหาของไอเอ็มเอฟที่กำหนดเป็นเงื่อนไขปฎิบัติแก่อาร์เจนตินานั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากการใส่น้ำมันลงไปเพื่อดับกองไฟที่กำลังลุกโชน เพราะเป็นการซ้ำเติมให้ภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาทรุดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ชนิดที่แม้แต่คนนอาร์เจนตินาก็สิ้นหวังจนถึงกับไม่อยากจะอยู่ในประเทศของตัวเองอีกต่อไป ทำให้มีผู้เดินทางออกนอกประเทศสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ผลกระทบต่อประเทศและระบบต่างๆทางสังคมและธรรมชาติ
วิกฤติอาร์เจนตินา หัวใจของลัทธิประชานิยม คือ การเพิ่มรายจ่ายของรัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการลดแลกแจกแถมที่อ้างว่า ช่วยคนจน แต่กลับสร้างความพิการในโครงสร้างการคลังไว้อย่างมิอาจเยียวยา นำไปสู่ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโต กลไกการเมืองประชานิยมก็เดินไปได้เมื่อรัฐบาลยังมีทางจัดเก็บภาษีและกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย แต่เมื่อเศรษฐกิจชะงัก รายได้ภาษีตกต่ำ วิกฤติการคลังก็ระเบิดขึ้น นำไปสู่วิกฤติหนี้สาธารณะ วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมืองในที่สุด
คนเราอาจจะหลอกคนบางคนได้ในบางเวลา แต่จะหลอกทุกคนไปตลอดเวลาไม่ได้ ความวิบัติของประเทศ มันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้บริหารประเทศ และประชาชนมีความสำนึก ผูกพัน และหวงแหนแผ่นดิน สมบัติของชาติ รัฐวิสาหกิจ สิทธิและผลประโยชน์เรื่องการทำกินของคนในชาติและสถาบันที่รักและเทิดทูน ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ระบอบเผด็จการเท่านั้น ที่รัฐบาลแสดงอำนาจกับประชาชน
รัฐที่ล้มเหลวอาจไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐที่ล่มสลาย หากชนชั้นสูงหรือผู้นำในสังคมยังคงดำรงอุดมการณ์ความเป็นชาติ และพิทักษ์รักษาบูรณภาพแห้งดินแดน รัฐที่ล่มสลาย ไม่มีสถานะความเป็นรัฐหลงเหลืออยู่อีกเลย ขณะที่รัฐล้มเหลวจะแปรสภาพเป็นรัฐที่ล่มสลายเมื่อไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในรัฐ สภาวะที่จะนำไปสู่การเป็นรัฐที่ล่มสลายนั้นจะพัฒนาการไปสาสภาพที่ดีขึ้นได้ ต้องอาศัยชนชั้นนำในสังคมที่ยังคงมีพลังในการชี้นำ ให้ใช้ความพยายามดำรงอุดมการณ์ความเป็นชาติและความพยายามในการธำรงรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ประการสำคัญ คือ การประสานประโยชน์ของพลังอำนาจ ของฝ่ายต่างๆ ความสมดุลจึงจะดำรงความเป็นรัฐที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้ตลอดไป
ภาวะที่เกิดขึ้นกับอาร์เจนตินาเอง แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปของ อาร์เจนตินาเองก็คือการสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ การสูญเสียสมดุลธรรมชาติหลายๆประการ ที่เกิดจากการเข้ามากอบโกยทรัพยากรเพื่อชำระหนี้ที่อาร์เจนติน่าได้ก่อเอาไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อาร์เจนตินาได้เกิดหิมะตกครั้งแรกในรอบ 100 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ของอาร์เจนติน่าที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่ได้สูญเสียไปแล้ว ทุ่งหญ้าแปมปัสขนาดใหญ่ก่อถูกเปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุนที่ใช้เงื่อนไขของข้อแตกต่างเรื่องรายได้ระหว่างเกษตรกร เข้าครอบครองและทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมากกว่าเกษตรเชิงสมดุลที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ส่งผลถึงความสมดุลที่สูญเสียไปในพื้นที่เหล่านี้ที่ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของประเทศ ที่เมื่อหมดซึ่งคุณค่าแล้วหากชาติที่ครอบงำได้ถอนตัวออกไปสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่ลูกหลานของชาวอาร์เจนติน่าเองจะต้องมาแกไขต่อไปในอนาคต
หากว่าอาร์เจนติน่าได้ตระหนักถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินที่มีความสมดุลและพอเพียง เช่นเดียวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผมเชื่อว่าภาวะวิกฤตคงจะไม่เกิดขึ้น ความล่มสลายที่เกิดขึ้นอาร์เจนติน่า เป็นอีกคำตอบหนึ่งของนโยบายประชานิยมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายๆสิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถนำมันกลับมาได้คือ ความเป็นชาติและความสมดุลของระบบต่างๆในสังคมและธรรมชาติ ที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามการชี้นำของผู้ผลิตนโยบายคือรัฐบาลเช่นกัน และการยอมรับและบริโภคของผู้บริโภคก็คือ ประชาชน เช่นกัน
เอกสารอ้างอิงจาก
1. นิติภูมิ นวรัตน์. เปิดฟ้าส่องโลก. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ17 พฤศจิกายน 2549.
2. นิติภูมิ นวรัตน์. เปิดฟ้าส่องโลก. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ18 พฤศจิกายน 2549.
3. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์. บทความ “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้นเหตุวิกฤติอาร์เจนตินาจริงหรือ” กรุงเทพธุรกิจ 18 ธันวาคม 2545.
4. วิสันติ สระศรีดา. “รัฐที่ล้มเหลว รัฐที่ล่มสลาย” วารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2552.
5. สุรพล ธรรมร่มดี. บทความ “อาร์เจนตินาที่ลุกเป็นไฟ” กรุงเทพธุรกิจ 28 พฤศจิกายน 2545.
6. เสรี ลีลาลัย. เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ส.เสริมมิตรการพิมพ์, 2547.
7. อัมรินทร์ คอมันตร์. บทความ “ยืนยัน ยังไง-ยังไง ก็ต้องพูดถึง อาร์เจนตินา ตัวอย่าง แห่ง หายนะ” มติชนรายวัน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9473.
8. http://www.nitipoom.com/th 1/2/2552
บทสรุปของ "ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?" บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา sawaib@hotmail.com กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2546
ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ มีประโยชน์มากๆ
ตอบลบ